การรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน (Root canal treatment) คือ วิธีการที่จะรักษาฟันของเราเอาไว้ หลังจากที่ฟันซี่นั้น ได้รับความเสียหาย หรือฟันผุอย่างรุนแรง จนกระทั้งเกิดการติดเชื้อ ในการรักษารากฟันนั้น ทันตแพทย์จะตัดโพรงประสาทฟัน และเนื้อเยื่อที่อยู่ใจกลางฟันออก จากนั้นก็จะทำความสะอาด และปิดพื้นที่บริเวณนั้น ด้วยวัสดุทางทันตกรรม
ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการรักษารากฟันนั้น เมื่อเกิดความเสียหายจนถึงโพรงประสาทฟัน จะต้องถอนฟันออกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ได้มีการศึกษาพบว่า เส้นประสาทของฟันนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นในด้านการใช้งานและสุขภาพเท่าใด หลังจากที่ฟันได้งอกผ่านเหงือกขึ้นมาแล้ว เพราะหน้าที่ของมันก็คือ การรับความรู้สึกร้อนและเย็นเท่านั้น และการที่เส้นประสาทจะหายไปบ้าง ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้งานประจำวัน
ทั้งนี้ เมื่อเส้นประสาท และเนื้อเยื่อในโพรงฟันอักเสบ ถูกทำลาย แบคทีเรียก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นหนอง และอาจจะลุกลามทำให้เกิดอาการบวมทั้งบริเวณใบหน้า คอ และศีรษะได้ โดยปัญหานั้น จะเริ่มขึ้นที่รากฟัน จากนั้นก็จะกระจายออกไปยังเหงือก แก้ม และผิวหนัง แรก ๆ อาจจะแค่รู้สึกระคายเคือง ตามมาด้วยอาการอักเสบ และติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจาก 3 กรณีคือ
- ฟันผุอย่างรุนแรงจนถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันแตกหักทะลุโพรงฟัน หรือเนื้อฟันเหลือไม่มากพอที่จะซ่อมแซมได้
- ฟันได้รับอุบัติเหตุ เกิดการบาดเจ็บจากการกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้เนื้อเยื่อในโพรงฟันอักเสบ หรือตาย
อาการที่บ่งบอกว่า เรามีปัญหาเรื่องรากฟันนั้น แม้ในบางกรณีจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลง หรืออาการขั้นต้นดังนี้
-
- มีอาการปวดฟันเมื่อเคียว หรือกัดแรง ๆ
- ฟันไวต่อความรู้สึก ทั้งร้อน และเย็น และมีความรู้สึกอยู่นานขึ้น แม้ว่าจะนำของร้อน หรือเย็นนั้นออกไปแล้ว
- สีของฟันเปลี่ยนไป คือฟันจะมีสีเข้มขึ้น
- เหงือกที่อยู่ใกล้เคียงกับฟันซี่ที่มีปัญหา จะบวมและนุ่ม
- มีตุ่มหนองขึ้นที่เหงือก
การรักษารากฟันนั้น ต้องใช้เวลา
การรักษารากฟันนั้น ต้องใช้เวลา คนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง และทันตแพทย์ที่จะรักษา ก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษารากฟันโดยเฉพาะ เนื่องจากจะต้องวินิจฉัยโดยละเอียด ทั้งสาเหตุว่ามาจากเชื้อโรค หรืออุบัติเหตุ วิธีการรักษา ซึ่งวิธีการรักษานั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขั้นตอนการรักษาคร่าว ๆ มีดังนี้
- X-ray เพื่อดูลักษณะและรูปปร่างของรากฟัน รวมทั้งดูว่ามีการติดเชื้อบริเวณกระดูกโดยรอบหรือไม่
- ทันตแพทย์ อาจจะให้ยาชาเพื่อระงับความรู้สึก และทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้น
- กำจัดเนื้อเยื่อ ประสาทฟันที่เกิดการอักเสบ และติดเชื้อออก
- ทำความสะอาด และใส่ยาลงไปในรากฟัน ตกแต่งและอุดฟัน แต่จะเป็นการอุดชั่วคราว เพื่อรอการรักษาครั้งต่อไป เนื่องจากต้องพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาหลายครั้ง
- อุดฟันถาวร โดยจะมีการใส่วัสดุคล้ายยางแท่งเล็ก ๆ หรือโลหะแท่งเพื่อประคองฟัน และปิดด้วยซีเมนส์
- ครอบฟัน เพื่อคลุมและรักษารูปทรงของฟัน
การดูแลหลังการรักษารากฟัน
- ระหว่างการรักษา ต้องระมัดระวังวัสดุอุดชั่วคราว หากหลุดต้องพบทันตแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้เชื้อโรคอาจจะเข้าไปในรากฟันไก้
- การรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตามกำหนดระยะเวลา ไม่ควรละเลยการนัดหมาย
- หลังการรักษา อาจมีอาการเจ็บปวดบ้าง แต่อาการจะหายไปใน 2-3 วัน
- ระมัดระวังในการใช้ เพราะฟันซี่ที่ถูกรักษานั้นสูญเสียเนื้อฟันไป ทำให้ไม่แข็งแรงเท่าเดิม แต่ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงไม่ใช้งาน โดยเคียวอาหารเพียงด้านเดียวนั้น ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การรักษารากฟัน เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้ให้มาตามนัด และเมื่อเสร็จการรักษาแล้ว และคนไข้ดูแลความสะอาดและสุขภาพปากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ฟันนั้นก็จะสามารถใช้งานไปได้ตลอดชีวิต