การอุดฟัน (Dental Fillings)
การอุดฟัน เป็นวิธีการรักษาฟันที่เสียหายเนื่องจากฟันผุ เพื่อให้ฟันซี่นั้น กลับมาใช้งานได้ตามปกติและมีรูปร่างที่เหมือนเดิม โดยทันตแพทย์ขจัดส่วนที่ฟันผุออกจนหมด ล้างทำความสะอาด และใช้วัสุดอุดฟันปิดช่องทางที่จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำลายฟัน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟันกลับมาผุอีกในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้ฟันผุและการอุดฟันกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นนั้น ย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเกิด ในตอนนั้น ไม่มีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอยู่ในช่องปาก แต่เมื่อเข้าสู่วัยเด็กหัดเดิน แบคทีเรียก็จะหาวิธีเข้าไปในปากของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกัด หรือการเลียของเล่น รวมทั้งวิธีการอื่น ๆ และแบคทีเรียก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในปากของเราไปจนตลอดชีวิต
แบคทีเรีย จะอยู่ที่ฟัน ทุกครั้งที่เรารับประทานอาหาร แบคทีเรียก็ได้รับอาหารด้วย ยิ่งถ้ารับประทานลูกอม ขนมหวาน แบคทีเรียก็ยิ่งชอบ และยิ่งแข็งแรงขึ้น และมันก็จะจับตัวกันแน่น เรียกว่า พลัก หากไม่กำจัดออก มันก็จะกัดกินเนื้อฟันของเราจนกระทั่งเป็นรู ซึ่งเรียกว่าฟันผุ
แม้โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราจะสามรถซ่อมแซมตัวเองได้ อย่างเช่นเมื่อกระดูกหัก มันก็จะสามารถจะต่อกันติดเองได้ แต่สำหรับรูที่เกิดขึ้นบนฟันนั้น ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ จึงต้องมาพบทันตแพทย์ เพื่อรักษาด้วยการอุดฟัน
คนไข้จะทราบได้อย่างไรว่าฟันผุ
คนไข้จะทราบได้อย่างไรว่าฟันผุจนต้องอุดฟัน กรณีนี้ คนไข้อาจจะไม่มีความรู้สึกผิดปกติใด ๆ แต่การมาพบทันตแพทย์เป็นประจำตามกำหนดนั้นก็จะได้รับการตรวจเช็ค โดยใช้เครื่องมือซึ่งเป็นกระจกเล็ก ๆ ส่องดูผิวฟัน หากพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะตรวจเช็คด้วยเครื่องมือที่ลงรายละเอียดต่อไป รวมทั้งอาจจะต้องมีการ X-ray เพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาต่อไป
วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน
วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันในมีหลายประเภท ทั้งทอง อมัลกัม คอมโพสิท เรซิน และพอซเลน วัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ไม่สามารถระบุได้ว่า ชนิดใดดีที่สุด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันของคนไข้แต่ละคน ซึ่งทันตแพทย์ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม
- การอุดฟันด้วยอมัลกัม (Amalgam fillinngs) หรือเงิน เป็นวัสดุที่มีความทนทานและราคาไม่แพง แต่มีข้อเสียคือมีสีเข้ม เห็นชัด ดังนั้น จึงไม่นิยมใช้เงิน มาอุดฟันในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะฟันหน้า
- การอุดฟันด้วยคอมโพสิท เรซิน (Composite resins fillings) เป็นพลาสติกที่มีสีเหมือนกันสีฟัน มองดูเป็นธรรมชาติ แต่วัสดุชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้อุดฟันในพื้นที่ใหญ่ เพราะอาจจะหลุดออกมาได้ เพราะเป็นวัสดุที่มีความคงทนน้อยกว่าวัสดุอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเปื้อนคราบกาแฟ บุหรี่ และยาสูบอื่น ๆ ได้ อายุขัยของวัสดุชนิดนี้ อยู่ที่ 3 ถึง 10 ปี
- การอุดฟันด้วยพอซเลน (Porcelain fillings) วัสดุชนิดนี้ต้องสั่งทำในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงนำมาอุดฟัน สีของวัสดุนั้น เป็นสีเดียวกับฟัน สามารถใช้อุดฟันในพื้นที่ใหญ่ได้ อีกทั้งยังไม่เลอะคราบอาหาร แต่วัสดุชนิดนี้จะมีราคาแพงไม่ต่างจากทอง
อย่างไรก็ตาม หากฟันผุกินบริเวณกว้าง ทันตแพทย์อาจจะแนะนำให้คนไข้ครอบฟัน และหากฟันผุลงไปถึงเส้นประสาท ก็อาจจะต้องเพิ่มขั้นตอนในการรักษารากฟันเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ หลังการอุดฟัน ทันตแพทย์ อาจจะมีคำแนะนำคนไข้ เป็นกรณีไป ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว จะมีข้อปฏิบัติคราว ๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารด้านที่ได้รับการอุดฟัน รวมทั้งการรับประทานอาหารแข็ง ประมาณ 24 ชั่วโมง เพราะวัสดุทีใช้จะยังไม่แข็งแรงเต็มที่นัก
- หากมีอาการเสียวฟัน ให้หลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด และเย็นจัด ซึ่งอาการเสียวฟันนั้น อาจเกิดขึ้นเพราะฟันผุลึก แต่อาการจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์
- กลับมาพบทันตแพทย์ เพื่อการตรวจเช็คตามการนัดหมาย
- ทำความสะอาดฟัน ด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันสม่ำเสมอ