โรคเหงือก (Gum disease)

โรคเหงือก (Gum disease เรียกอีกอย่างว่า Periodontitis หรือ Periodontal disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการก่อตัวของเชื้อแบคทีเรียในปาก ซึ่งหากปล่อยไว้ หรือรักษาไม่ถูกวิธี จะนำไปสู่การสูญเสียฟัน เพราะเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มฟันถูกทำลายไป

เมื่อพูดถึงโรคเหงือก หลาย ๆ คนยังสับสน ระหว่าง โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) และปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบเรื้อรัง (Periodontitis หรือ Gum disease) ซึ่งโรคทั้งสอง มีความรุนแรงต่างกัน แต่เกี่ยวข้องกันคือ เหงือกอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ และทำให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่การอักเสบนั้น ก็สามารถพัฒนาไปจนกลายเป็นการอักเสบเรือรัง หรือปริทันต์ได้ เรียกได้ว่า เหงือกอักเสบ เป็นอาการขั้นแรก ของโรคเหงือก หรือปริทันต์นั้นเอง

อาการของโรคเหงือก

อาการในขั้นแรก หรือเหงือกอักเสบนั้น เกิดจากการก่อตัวของแบคทีเรีย จนกลายเป็นคราบพลัก และทำให้เหงือกเกิดการติดเชื้อ มีเลือดออกระหว่างการแปรงฟัน และเกิดความระคายเคือง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบให้ฟันมีการโยกคลอน กระดูกและเนื้อเยื่อที่ยึดติดกับฟันจะยังไม่ได้รับความเสียหายในขั้นแรกนี้ แต่หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โรคเหงือกอักเสบ ก็จะพัฒนาไปเป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือปริทันต์ ซึ่งในขั้นนี้ เนื้อเยื่อภายในเหงือก และกระดูกจะที่ห่อหุ้มฟัน จะถูกทำลาย ช่องเล็ก ๆ ระหว่างเหงือกและฟัน จะมีสิ่งสกปรกเข้าไปอุดอยู่ จนเกิดการติดเชื้อขึ้น จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็จะพยายามต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ขณะเดียวกับคราบพลักก็จะขยายตัวและเติบโตเข้าไปจับอยู่ใต้เหงือก

การต่อสู้ระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ที่ผลิตสิ่งที่เป็นพิษออกมา กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ผลิตเอนไซม์ ออกมาต่อต้าน จะส่งผลให้กระดูก และเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มฟันถูกทำลาย จากนั้นก็จะสูญเสียความแน่นในการยึดเกาะของฟัน และนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด

สาเหตุของโรคเหงือก

สาเหตุของโรคเหงือกนั้น แม้ว่าคราบพลัก จะเป็นสาเหตุหลัก แต่โรคเหงือกก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกันคือ

  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาจจะเกิดขึ้นเพราะการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยรุ่น วัยหมดประจำเดือน การมีประจำเดือน เพราะในช่วงเวลาเหล่านั้น เหงือกจะไม่แข็งแรง ทำให้ง่ายต่อการอักเสบติดเชื้อ
  • อาการเจ็บป่วยบางอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อเหงือก เช่น มะเร็ง เอดส์ ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งโรคเบาหวานด้วย
  • ยารักษาโรคบางอย่าง ก็มีผลต่อสุขภาพปาก ส่งผลต่อระบบของการผลิตน้ำลาย ซึ่งก็ต่อเนื่องไปถึงเหงือกและฟัน ยารักษาอาการทางสมองบางชนิด ก็ทำให้เนื้อเยื่อของเหงือกเติบโตผิดปกติเช่นกัน
  • พฤติกรรมไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ ทำให้เมื่อเกิดอาการเหงือกอักเสบขึ้นแล้ว รักษาได้ยาก
  • การรักษาความสะอาดในช่องปากไม่ดีพอ แปรงฟันไม่สะอาด ไม่ใช้ไหมขัดฟัน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เหงือกมีการอักเสบได้ง่าย
  • ประวัติครอบครัว หรือคนในครอบครัว เคยเป็นโรคเหงือกรุนแรงมาก่อน ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมเช่นกัน

จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มมีอาการของโรคเหงือก

จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มมีอาการของโรคเหงือก เนื่องจากว่าในขั้นแรกนั้น ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ เลย มีเพียงความผิดปกติเล็กน้อย ที่อาจจะไม่ได้สังเกตเห็นในขั้นต้น เมื่อโรคพัฒนามากแล้ว จึงจะรู้สึก แต่ทั้งนี้ หากหมั่นสังเกต ก็พอจะทราบได้ จากอาการดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกในระหว่างการแปรงฟัน
  • เหงือกแดง บวม และมีอาการตึง
  • มีกลิ่นปาก รสชาติในปากไม่ดี
  • เหงือกร่น
  • มีการติดเชื้อในช่องระหว่างฟันและเหงือก
  • ฟันหลุด หรือโยกคลอน
  • ฟันไม่สบอย่างเหมาะสมเมื่อกัดฟัน

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่พบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยจากโรคเหงือก เพราะคนไข้บางราย เป็นโรคเหงือกบริเวณฟันกราม ซึ่งทันตแพทย์เท่านั้น ที่จะตรวจพบได้ และการที่ทันตแพทย์จะวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคเหงือกนั้น ก็มีวิธีและข้อพิจารณาดังนี้

  • เหงือกมีเลือดออก บวม ตึง ช่องระหว่างเหงือกและฟันใหญ่ และลึก
  • ฟันมีการโยกเคลื่อน ไวต่อความรู้สึก
  • กระดูกขากรรไกร และกระดูกรอบฟัน มีความเสียหาย

ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคเหงือกขึ้นมาแล้ว ก็มีวิธีการรักษาเพื่อทำให้เหงือกและฟันกลับมามีสุขภาพที่ดีเหมือนเดิม ลดอาการบวม ลดความลึกของช่องระหว่างเหงือกและฟัน รวมทั้งลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อเพื่อหยุดกระบวนการพัฒนาของโรค ซึ่งในการรักษานั้น จะใช้วิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และความร่วมมือในการรักษา และการดูแลสุขภาพปากของคนไข้ วิธีรักษานั้น มีตั้งแต่การควบคุมการขยายตัวของแบคทีเรีย ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ

วิธีป้องกันโรคเหงือก

อย่างไรก็ตาม โรคเหงือกนั้น สามารถป้องกันได้ หากมีการควบคุมการก่อตัวของคราบพลัก และการดูแล รักษาความสะอาดดังนี้

  • ไปพบทันตแพทย์ เพื่อทำความสะอาดและขจัดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • แปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี การแปรงฟันเป็นการลดคราบพลัก ที่เกาะติดบริเวณด้านหน้าที่ขนแปรงสามารถเข้าถึง ส่วนไหมขัดฟัน ช่วยขจัดคราบบริเวณซอกฟัน ใต้เหงือก
  • ใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อลดปริมาณของแบคทีเรียในปาก ซึ่งจะก่อตัวกลายเป็นพลัก และนำไปสู่การเป็นโรคเหงือกได้ในที่สุด
  • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ผู้ทีสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหงือกมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 7 เท่า อีกทั้งเมื่อเป็นขึ้นมาแล้ว ก็ยังรักษายากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน
  • ลดความเครียด เพราะความเครียดส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ควบคุมอาหารให้เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี เลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนต่อต้านอนุมูลอิสระ อาหารที่มีวิตามิน E และวิตามิน C ซึ่งช่วบเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • หลีกเลี่ยงการกัด หรือการเคี้ยวฟัน เพราะแรงกด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อได้